มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงตั้งอยู่เลขที่ ๔๖ หมู่ ๓ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๗ เดิมมีชื่อว่า ”วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง”(Chombueng Village Institute)
โดยก่อตั้งเป็นสถานศึกษาตามแนวคิด "วิทยาลัยหมู่บ้าน"ของประเทศตุรกีมีจุดมุ่งหมายในการก่อตั้ง ๔ ประการคือ
๑. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในชนบทที่ต้องการพัฒนา โดยคัดเลือกนักเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารเข้าศึกษาเป็นอันดับแรกเมื่อศึกษาสำเร็จแล้วให้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตน
๒. เพื่อปลูกฝังนักศึกษาครูให้รักอาชีพครูโดยผ่านการศึกษาเล่าเรียนและฝึกงานหลายแบบ เพื่อนำความรู้ความชำนาญไปลงมือปฏิบัติได้
๓. เพื่อให้นักศึกษาครูรู้จักปฏิบัติตนในการเข้าสังคมโดยอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตยคือการเคารพนับถือกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันมีสติ
๔. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในท้องถิ่นใกล้เคียง ในระยะแรกวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึงได้เปิดสอนหลักสูตร ๕ ปี โดยรับนักศึกษาทุนจากถิ่นทุรกันดารจากทั่วประเทศซึ่งสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ เข้าเรียนเมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา
๑ ตุลาคม ๒๕๑๓
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกฐานะวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึงเป็นวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึงและได้มีการรับนักศึกษาทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เข้าเรียนหลักสูตร ๒ ปี
เมื่อสำเร็จแล้วได้วุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาอีกส่วนหนึ่งด้วย ในปีเดียวกันนี้วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึงยังได้เริ่มเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงโดยรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาหรือเทียบเท่า เข้าเรียนหลักสูตร ๒ ปี
พ.ศ.๒๕๒๑
วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึงได้เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรีตามหลักสูตรสภาการฝึกหัดครูในระยะแรกได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ๒ ปี
โดยรับนักศึกษาที่สำเร็จประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงหรือเทียบเท่าเข้าเรียนในปีเดียวกันนั้นวิทยาลัยได้เริ่มเปิดสอนตามโครงการการศึกษาอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ(อคป.)
ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกันระหว่างกรมการฝึกหัดครูและหน่วยงานผู้ใช้ครู โดยมุ่งที่จะพัฒนาวิทยฐานะครูให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้ารับการอบรมตามโครงการนี้จะได้รับการศึกษาอบรมตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงและหลักสูตรปริญญาตรี ๒ ปี
อนึ่ง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจส่งผลทำให้วิทยาลัยไม่สามารถที่จะรับนักศึกษาทุนในอัตราวงเงินเท่าเดิม (๒,๕๐๐ บาท/คน/ปี)ได้ ด้วยความเห็นชอบของกรมการฝึกหัดครูจึงได้เลิกรับนักศึกษาทุนในปีการศึกษา ๒๕๒๑ นั่นเอง
พ.ศ.๒๕๒๒
วิทยาลัยได้เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาทั้งนี้เพื่อสนองนโยบายของกรมการฝึกหัดครูและเนื่องจากความต้องการครูระดับนี้น้อยลง
พ.ศ.๒๕๒๓
วิทยาลัยได้เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตร ๔ ปี ตามหลักสูตรของสภาการฝึกหัดครูโดยรับผู้สำเร็จขั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเข้าเรียน เมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับวุฒิปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต เช่นเดียวกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั่วไป
พ.ศ.๒๕๒๖
วิทยาลัย ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรเทคนิคการอาชีพตามหลักสูตรสภาการฝึกหัดครู พ.ศ. ๒๕๑๙ เพิ่มพ.ศ. ๒๕๒๕ โดยรับนักศึกษาที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าเรียนในภาคสมทบ เมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง อย่างไรก็ตามวิทยาลัยเปิด สอนนักศึกษาภาคสมทบได้เพียงรุ่นเดียวก็มิได้เปิดอีก
พ.ศ.๒๕๒๗
วิทยาลัยได้เปิดสอนเทคนิคการอาชีพสำหรับนักศึกษาภาคปกติ ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงวิทยาลัยเปิด สอนหลักสูตรนี้เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น
พ.ศ.๒๕๒๘
วิทยาลัยได้เริ่มเปิดสอนระดับอนุปริญญาทางวิทยาศาสตร์และทางศิลปศาสตร์ตามหลักสูตรของสภาการฝึกหัดครู พ.ศ.๒๕๒๘ โดยรับนักศึกษาที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าเรียน ๒ ปี เมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับวุฒิอนุปริญญาทางวิทยาศาสตร์หรืออนุปริญญาทางศิลปศาสตร์ในปีเดียวกันนี้วิทยาลัยได้ปฏิบัติตามนโยบายของกรมการฝึกหัดครูคืองดรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงและงดสอนตามโครงการ อคป.และได้เริ่มเปิดสอนตามโครงการการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ(กศ.บป.)
พ.ศ.๒๕๓๐
ได้ขยายการเปิดสอนสาขาวิชาการอื่นจากระดับอนุปริญญาไปจนถึงระดับปริญญาตรี สำหรับสายวิชาชีพครูก็ยังคงเปิดสอนตามปกติ
พ.ศ.๒๕๓๑-พ.ศ.๒๕๓๔
วิทยาลัยได้ ปฏิบัติตามนโยบายของกรมการฝึกหัดครู เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคือการลดปริมาณการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาสายวิชาชีพครูลง
และเพิ่มปริมาณการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาและนักศึกษาระดับอนุปริญญาสาขาวิชาการอื่นให้มากขึ้นในหลายๆสาขาวิชา
พ.ศ.๒๕๒๘ วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึงได้รวมกลุ่มกับวิทยาลัยครูภาคตะวันตก ๔ แห่งได้แก่ วิทยาลัยครูเพชรบุรี วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง วิทยาลัยครูกาญจนบุรี วิทยาลัยครูนครปฐมและเรียกการรวมตัวครั้งนี้ว่า "สหวิทยาลัยทวารวดี"
ปีการศึกษา๒๕๓๐ วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึงได้เปิดสอนนักศึกษาโครงการคุรุทายาทซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติกับกรมการฝึกหัดครู ให้เรียนในระดับปริญญาตรี โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัยและโปรแกรมวิชาการประถมศึกษา
ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๒๔ กรมสามัญได้เข้าร่วมโครงการนี้วิทยาลัยได้รับการคัดเลือกให้สอนนักศึกษาคุรุทายาทสายมัธยมศึกษา โปรแกรมวิชาคณิตศาสตร์ เกษตรศาสตร์และอุตสาหกรรมศิลป์(สาขาก่อสร้างและอิเล็คทรอนิกส์)
ปีการศึกษา ๒๕๓๕
ได้ เปิดสอนนักศึกษาคุรุฑายาทสายประถมศึกษาโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปและสายมัธยมศึกษาโปรแกรมวิชาดนตรีการผลิตบัณฑิตในช่วงปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙ ได้วางแผนให้สอดคล้องกับนโยบายในแผนการพัฒนาการศึกษาระยะที่ ๗ ในกรอบและทิศทางของกรมการฝึกหัดครูที่เน้นให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
โดยผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาการศึกษาสาขาวิชาศิลปศาสตร์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นสัดส่วน ๔๐: ๓๐:๓๐ ตามลำดับ
เนื่องจากปัจจุบันวิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยผลิตบัณฑิตในสาขาต่างๆ ได้แก่ครุศาสตร์บัณฑิต วิทยาศาสตร์บัณฑิตและศิลปศาสตร์บัณฑิต แต่บุคคลทั่วไปยังเข้าใจผิดว่าที่จบจากวิทยาลัยครูต้องประกอบอาชีพครูเท่านั้น
ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาอื่น ขาดโอกาสในการหางานทำและในบางครั้งเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า“วิทยาลัยครู” มิได้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้องและเกิดประโยชน์แก่นักศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “สถาบันราชภัฏ” แก่วิทยาลัยครูเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
และเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๓๗ สภาผู้แทนราษฎร์ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. สถาบันราชภัฏและวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๗
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๘ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกาโดยนายชวน หลีกภัยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการและมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๘
ปีการศึกษา ๒๕๓๙ และ ๒๕๔๐
สภาประจำ สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรในท้องถิ่นได้ร่วมกันร่างคำปณิธานของมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นปรัชญาและแนวทางในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๔๒
และข้าราชการของมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันจัดทำแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาประจำมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นแผนและเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะ ๔ ปี (พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๖)
ปีการศึกษา ๒๕๔๗
พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑ ตอนที่พิเศษ ๒๓ก เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ มีผลให้สถาบันราชภัฏทุกแห่งเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตั้งแต่วันที่๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไป สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงจึงมีชื่อใหม่เป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ตามพระราชบัญญัตินั้นเป็นต้นมา
ที่มา http://www.mcru.ac.th/m_about.php?action=history
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น